คกก.เล็งปรับสัดส่วนครูพันธุ์ใหม่ ร้อยละ 50-70% รองรับครูเกษียณ

เล็งอัปเกรดคุณภาพครูพันธุ์ใหม่เน้นงานวิจัย พร้อมปรับหลักสูตรเป็น 6 ปี จบได้วุฒิ ป.โท คณะกรรมการเตรียมปรับสัดส่วนรับเพิ่ม รองรับครูเกษียณ 50-70% “ไชยยศ” นัดคุยครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ สรุปแนวทาง ก่อนชง ครม.พ.ย.นี้

วันนี้ (6 ต.ค.) นายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการครูพันธุ์ใหม่ ว่า ที่ประชุมได้ทบทวนถึงหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่เพื่อดำเนินการได้ทันในปี 2554 โดยยึดหลักนโยบายที่ว่านักศึกษาที่จะจบออกมาเป็นครูพันธุ์ใหม่ นอกจากจะต้องมีคุณภาพแล้ว ยังต้องมีความสามารถด้านวิจัย ซึ่งต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบเข้าไปตรวจสอบคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ในแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ ด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ที่จะปรับเป็นหลักสูตร 6 ปี เรียนจบได้วุฒิ ป.ตรี และ ป.โท และประกันการมีงานทำนั้น ในส่วนของนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในหลักสูตร 5 ปี จะจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกันเมื่อเรียนจบก็จะได้วุฒิ ป.โท ซึ่งอาจจะต้องเรียนเพิ่มอีก 1 ปี รวมเป็น 6 ปี

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติว่าจากจำนวนครูพันธุ์ใหม่ที่รัฐบาลได้อนุมัติจำนวน 30,000 คน ในระยะเวลา 10 ปีนั้น อาจไม่สอดคล้องกับจำนวนข้าราชการครูที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2563 ที่มีกว่า 180,000 คน ดังนั้นในโอกาสที่ ศธ.กำลังดำเนินการปฎิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ จึงควรจะต้องเพิ่มจำนวนรับในโครงการครูพันธุ์ใหม่เพิ่มอีกประมาณ 50-70% ของจำนวนข้าราชการครูที่จะเกษียณ ในอีก 10 ปี และรวมกับข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการก่อนกำหนดอีกประมาณ 20,000 คน รวมทั้งหมดแล้วจะต้องผลิตครูพันธุ์ใหม่รวมประมาณ 100,000 คน โดยจะมีการหารือเรื่องสัดส่วนการรับนักศึกษาร่วมกับผู้แทนคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ อีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค.นี้ จากนั้นจะได้ทำข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปลายเดือน พ.ย.นี้ต่อไป

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 ต.ค. 53
http://www.kroobannok.com/

ศธ.เตรียมประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2

ศธ.เตรียมประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ในการเรียนการสอน หวังสร้างพลังยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของพลเมืองไทย เตรียมแผนรองรับหลากหลาย ทั้งประสานกระทรวงการคลังของบจ้างครูชาวต่างชาติมาประจำโรงเรียนรัฐ มอบสพฐ.จัดทำแผนโดยละเอียด “ ชินวรณ์ “ เผย ศธ.เตรียมทยอยจัดงานใหญ่เชิญนายกฯเปิดตัวโครงการต่าง ๆ ตามนโยบาย 6 เดือน 6 คุณภาพ เบื้องต้นเตรียมไว้แล้ว 3 งาน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2553 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ วางแผนจะประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ในการเรียนการสอน โดยเรื่องนี้ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและนายกร จาติกวณิช รัฐมนตรีว่การกระทรวงการคลังแล้ว อยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียดอยู่ ส่วนสาเหตุที่ศธ.วางแผนประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ในการเรียนการสอนนั้น เนื่องจากเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนของกระทรวงนั้น ต้องการสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เก่ง ดี มีความสุข และที่สำคัญต้องสามารถแข่งขันได้ในสังคมโลกและสังคมอาเซียน ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจึงมีความจำเป็นเพื่อให้คนไทยสามารถสื่อสารกับสังคมโลก เพราะฉะนั้น ศธ.จึงวางแผนประกาศจุดยืนเรื่องนี้เพื่อผลักดันให้มีความพร้อมทุกด้านรองรับการจัดการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า แผนที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษหลังประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 นั้น กำลังอยู่ระหว่างศึกษาและยกร่างแผนโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่เบื้องต้น เห็นว่า สิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษ ต้องมีครูชาวต่างประเทศโดยเฉพาะที่จบจากประเทศแม่เข้ามาประจำในโรงเรียนรัฐมากขึ้นโดยเฉพาะโรงเรียนที่เข้าโครงการพัฒนาสู่มาตรฐานสากลจำนวน 500 โรง ( World Class School ) ต้องมีครูต่างชาติจำนวนมากพอ รวมถึงโรงเรียนระดับมัธยมปลายทุกแห่งก็ควรมีครูชาวต่างชาติด้วย ส่วนโรงเรียนมัธยมต้น ต้องมีครูไทยที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ขณะที่โรงเรียนประถมศึกษาก็ควรมีครูวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น

" เมื่อมีครูชาวต่างชาติและครูที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรงเพิ่มแล้ว โรงเรียนก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนแบบEnglish Program ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลนั้น มีเป้าหมายต้องจัดการเรียนการสอนในวิชาหลัก ๆ เป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ทั้งนี้ กำลังให้ สพฐ.ศึกษาดูว่า ต้องเพิ่มครูชาวต่างชาติจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังเห็นว่า ถ้ามีความจำเป็นต้องการพัฒนาพลเมืองไทยยุคใหม่ก็พร้อมสนับสนุนงบประมาณ ขณะเดียวกันศธ.ก็ได้หารือกระทรวงต่างประเทศ เรื่องการจัดหาครูชาวต่างชาติมาสอนในโรงเรียนรัฐ ซึ่งที่เล็ง ๆ ไว้คือ ครูชาวสหรัฐอเมริกาที่เออรี่ฯแล้ว" นายชินวรณ์ กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนวันประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 นั้น อาจเป็นวันที่ 22 ต.ค. ซึ่ง ศธ.มีโปรแกรมจัดงานใหญ่เชิญนายกฯ ชูธง ประกาศจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนแต่ละระดับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “ 6 เดือน 6 คุณภาพ” เพราะเรื่องนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

ส่วนอีก 5 คุณภาพที่เหลือนั้น เรื่องแรก คือ ทำเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี ให้มีคุณภาพ ศธ.ก็เตรียมจัดงานใหญ่ให้นายกฯ ชูธงเรื่องนี้เช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผน คู่มือในการพัฒนาเรียนฟรี 15 ปีให้มีคุณภาพอยู่ แต่หลักคิดเรื่องใหญ่ คือ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการจัดการศึกษา โดยศธ.จะกำหนดให้ กรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองเข้ามาบริหารจัดการงบเรียนฟรี 15 ปีด้วย โดยเฉพาะงบจัดซื้อหนังสือเรียน อุปกรณ์ เครื่องแบบและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

2. พัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ศธ.เตรียมจัดงานใหญ่Kick off เปิดตัวโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลในวันที่ 5 พ.ย. เชิญนายกฯชูธงเช่นกัน ซึ่งโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ และโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล เป็นชุดโครงการที่สำคัญเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาสถานศึกษา

3. พัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตลอดชีวิตให้มีคุณภาพ โดยให้ศูนย์ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลเป็นเซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีการเปิดตัวเรื่องนี้ในวันที่ 12 ต.ค. เชิญนายกฯ ชูธงเช่นกัน

4. การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งจะมีการเปิดตัวเรื่องนี้ปลายเดือนตุลาคม และ

5. การพัฒนาครูให้มีคุณภาพ โดยในเดือนมกราคม 2554 จะมีการจัดงานวันครูอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดตัวกองทุนพัฒนาครูซึ่งจะระดมพลังมาจากครู

ที่มา: http://www.komchadluek.net

ครูระดับต้น-กลาง/ศน./ผู้บริหาร เตรียมอบรม e-Training อย่างน้อยคนละ 1 หลักสูตร


รายละเอียดทั้งหมด
http://hrd.obec.go.th/news/Oct/3450.pdf

สพฐ.เตรียมจัดอบรมไอซีทีผู้บริหาร เร่งปรับกลยุทธ์-ติวเข้มครูสูงวัยเรียนรู้ช้า-ลืมง่าย

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กลางเดือนต.ค.นี้ สพฐ.จะจัดอบรมและพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดสพฐ.จำนวน 1 หมื่นคน ให้มีความรู้ความสามารถนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปใช้เพื่อการบริหารการศึกษา และพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งขณะนี้กำลังจัดสรรงบประมาณจำนวน 14 ล้านบาท ไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หลักสูตรการอบรม ประกอบด้วยเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีเว็บ 2.0 เช่น Twister, Wiki, Youtube, Facebook, Blog เทคนิควิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต (Search Engine) การสร้างสังคมออนไลน์ สำหรับผู้บริหารโรงเรียน (Social Network) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานเขตพื้นที่กับโรงเรียน ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ OBEC Mail เป็นต้น

นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้ติดตามประเมินผลการอบรมพัฒนาครูไอซีที พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาของสพฐ. ส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สูงอายุ คือ มีอายุ 45-58 ปี ทำให้การเรียนรู้และทักษะในการประยุกต์ใช้ไอซีทีเกิดการเรียนรู้อย่างช้าๆ จำไม่ค่อยได้ ดังนั้น การนำกลับไปใช้ในการเรียนการสอนที่โรงเรียน เพื่อใช้พัฒนาการสอนในชั้นเรียน จึงยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสพฐ.จึงหาทางปรับแนวทางการอบรมพัฒนาครู โดยอาจต้องให้ครูที่เคยผ่านการอบรมแล้ว กลับมาเติมเต็มความรู้อีกครั้ง

และช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ฝึกอบรมพัฒนาครู และ บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 68,400 คน โดยใช้หลักสูตรบูรณาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อยกระดับการเรียนการสอน โดยเริ่มจากฝึกอบรมศึกษานิเทศก์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 700 คน ให้มีความรู้และทักษะในการประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน และมีความสามารถ เป็นวิทยากรแกนนำ อบรมครูด้านบูรณาการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนการสอน จากนั้นให้ศึกษานิเทศก์ ทั้ง 700 คน ไปอบรมขยายผลให้แก่ครูในโรงเรียนสังกัดสพฐ. ทั้งหมด 68,400 คน โดยใช้ศึกษานิเทศก์ 1 คน อบรมครู 100 คน โดยสพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง SP2 ไปยังสพท.ทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณไปทั้งหมด 191 ล้านบาท

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553
http://www.kroobannok.com/

สพฐ.ลุ้นบรรจุครูใหม่1.7หมื่น เตรียมเปิดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ เม.ย. 2554

นายกมล ศิริบรรณ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ ในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือ เออร์ลี่รีไทร์ ปีงบประมาณ 2554 ของ สพฐ. ว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ทำหนังสือ ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการใช้เงินเหลือจ่ายของ สพฐ. ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อการบรรจุบุคลากรทดแทนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ จำนวน 12,860 คน ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อขออัตราเกษียณอายุราชการปี 2552 จำนวน 4,160 อัตรา คืนตามมติ ครม. ที่ให้คืนอัตราเกษียณฯปกติทั้ง 100% แก่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เนื่องจากขาดแคลนครู

“เลขาธิการ กพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารอ เพื่อเตรียมที่จะจัดสรรอัตราคืนแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แล้ว และได้มีการสำรวจข้อมูลของแต่ละเขตพื้นที่ฯ แล้วว่าขาดอัตราเท่าใด ดังนั้นหาก คปร.อนุมัติ สพฐ.จะเร่งจัดสรรให้ทันที เพื่อให้เขตพื้นที่ฯจัดสรรอัตราลงสถานศึกษาต่อไป” นายกมลกล่าวและว่า สำหรับอัตราที่เขตพื้นที่ฯได้คืนนั้น สามารถนำไปเปิดสอบใหม่หรือจะเรียกจากบัญชีเดิมมาบรรจุก็ได้ ทั้งนี้จะมีการสำรวจอัตราว่างในสถานศึกษาทั่วประเทศอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2554 ก่อนจะมีการเปิดสอบพร้อมกันทั่วประเทศในเดือน เม.ย. 2554 และบรรจุเดือน พ.ค. 2554 เพื่อให้ทันกับการเปิดภาคเรียน ที่ 1/2554 อย่างไรก็ตามเบื้องต้นคาดว่าจะ ได้อัตราคืนมาบรรจุทั้งจากเกษียณปกติและเออร์ลี่รีไทร์รวม 17,020 อัตรา เนื่องจากจะได้คืนอัตราเออร์ลี่รีไทร์ 100% เช่นกัน

ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 8 ตุลาคม 2553
http://www.kroobannok.com/

ที่สุดแห่งหลักการดำรงชีวิต ๑๔ ข้อ

๑. ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของชีวิตของเรา คือ ตัวเราเอง
๒. ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตของเรา คือ ความอวดดี
๓. ความเขลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตของเรา คือ การเชื่อคนง่าย
๔. ความเศร้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ความอิจฉา
๕. ความผิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การทอดทิ้งตัวเอง
๖. บาปที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การหลอกลวงตัวเอง
๗. อารมณ์ที่น่าสงสารที่สุด คือ การทำตนให้ต่ำลง
๘. ชีวิตที่น่าสรรเสริญที่สุด คือ การเลือกทางแห่งความก้าวหน้า
๙. การล้มละลายของการดำเนินชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ความท้อแท้ใจ
๑๐.สมบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการดำเนินชีวิต คือ การมีสุขภาพที่ดี
๑๑.หนี้แห่งการดำเนินชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ หนี้ของความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
๑๒.การให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การให้อภัย
๑๓.ความไม่สมบูรณ์ที่สุดของการดำเนินชีวิต คือ การรู้ไม่จริง
๑๔.ความพอใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการดำเนินชีวิต คือ การให้ทาน
ที่มา http://rumi.myfri3nd.com/blog/2010/07/13/entry-4